ท่วงทำนองแห่งสีสัน
ธันยภฦศ ฟองดาวิรัตน์
ศิลปะมหาบัณฑิต
สาขาวิชาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
ผลงานวิทยานิพนธ์ชุด”ทำนองแห่งสีสัน”
เป็นผลงานศิลปกรรมที่มุ่งนำเสนอความสนุกสนานของสีและแสงซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเสียงดนตรี
สี แสงจากการแสดงดนตรีสด ทั้งยังมีการพัฒนาอันมีฐานจากผลงานในอดีตของข้าพเจ้า
รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดจากผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ
ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ออกสู่ภาพลักษณ์ของผลงานศิลปะรูปทรงเรขาคณิตสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมขนาดต่างๆ
แสดงรายละเอียดของเนื้อหาโดยกรรมวิธีการพิมพ์เลเซอร์-ปริ๊นท์(Laser Print) ประกอบลงบนด้านแต่ละด้านของรูปทรงปริมาตรสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมซึ่งมีการติดตั้งหลอดไฟภายในตัวชิ้นงาน
เพื่อแสดงความสดจัดของสี ให้สีและแสงร่วมกันทำหน้าที่บรรเลง”ทำนองแห่งสีสัน”ที่ข้าพเจ้าได้สร้างสรรค์ขึ้น
วิทยานิพนธ์ชุดนี้ได้ทำการบันทึกที่มาแห่งแรงบันดาลใจ
วัตถุประสงค์ของโครงการ ขอบเขตของการสร้างสรรค์
แนวความคิด การหาข้อมูล การสร้างภาพร่าง-แบบจำลอง กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน
ภาพผลงาน การวิเคราะห์พัฒนาการของผลงานสร้างสรรค์
การแทนค่าความหมาย
และพัฒนาการต่อยอดจากผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซซึ่งให้อิทธิพลแก่ข้าพเจ้า
รวมไปถึงปัญหา
วิธีการแก้ปัญหาซึ่งส่งผลให้วิทยานิพนธ์นี้บรรลุตามวัตถุปะสงค์ที่ข้าพเจ้ากำหนดไว้
ตลอดจนการจุดประกายประเด็น แง่คิดใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน
จนถึงภายหลังจากที่ผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวข้าพเจ้าเองในการพัฒนาสู่ผลงานสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต
รวมไปถึงประโยชน์แก่ผู้สนใจและผู้ที่ต้องการนำไปเป็นกรณีศึกษาอันก็ให้เกิดพัฒนาการทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมต่อไป
1.
บทนำ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีที่มาและความสำคัญ
คือ สีและแสงจัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแสดงดนตรีสดไม่น้อยไปกว่าเรื่องของเนื้อดนตรี
ประกอบกับสีและแสงเป็นเรื่องของการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทางตาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่างรอบๆคัวซึ่งปกคลุมไปด้วยความมืด
ทำงานร่วมกับการรับรู้ด้วยโสตสัมผัสที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะหรือกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิพลที่ได้รับซึ่งส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงาน
ดังนี้คือ หนึ่งสีและแสงจากการแสดงดนตรีสด(Live
Music) นั่นคือ สีและแสงช่วยสร้างบรรยากาศ
ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม
และคล้อยตามกับการสื่อสารจากผู้บรรเลงดนตรีมาสู่ผู้ชมอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน
ผลงานศิลปะของข้าพเจ้าต้องการมุ่งเน้นถึงความสนุกสนานของดนตรีเป็นหลัก ดังนั้นการเลือกใช้สีจึงเป็นไปในด้านการใช้สีที่ต่างวรรณะกัน
เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และระยิบระยับเป็นส่วนใหญ่ สองคือศิลปะ นั่นคือ ในการสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์นี้
ข้าพเจ้าต้องการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา สร้างความสมดุล
และความสัมพันธ์ใหม่ในความรู้สึกของข้าพเจ้า เพื่อให้รูปทรง แสง และสี
ได้ทำงานร่วมกันประสาน”ท่วงทำนองแห่งสีสัน”ต่อทั้งตัวผลงานเองและผู้ชมที่เข้ามาอยู่ในบรรยากาศแห่งสีสันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อนำเสนอผลงานศิลปะที่แสดงอารมณ์
ความรู้สึกสนุกสนานของสี และแสง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงดนตรี เพื่อศึกษาการใช้สี
การแปรค่าของเสียงดนตรีออกมาเป็นสี การจัดการกับสีและแสง เทคนิควิธีการ
รวมไปถึงการจัดการกับวัสดุ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานศิลปะที่มีความสนุกสนาน
ความระยิบระยับของสีและแสง โดยมีขอบเขตของการสร้างสรรค์
ดังนี้คือ พื้นที่ห้องขนาดความกว้าง 5 เมตร ความยาว 9 เมตร ความสูง 4 เมตร สำหรับนำเสนอผลงานเรื่อง”ท่วงทำนองแห่งสีสัน”(Rhythmic Colours) ในลักษณะของศิลปะจัดวาง(Installation)ซึ่งมีรูปทรงสี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยมขนาดด่างๆจำนวน 47
ชิ้นแสดงรายละเอียดเนื้อหาด้วยกรรมวิธีการพิมพ์เลเซอร์ ปริ้นท์(Laser Print) ประกอบลงบนด้านแต่ละด้านของรูปทรงสี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยม
ซึ่งมีการติดตั้งหลอดไฟภายในทุกชิ้นงาน เพื่อให้สีและแสงร่วมกันทำหน้าที่บรรเลง”ท่วงทำนองแห่งสีสัน” ที่ข้าพเจ้าได้สร้างสรรค์ขึ้น โดยแนวความคิดในการสร้างสรรค์ คือ ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอผลงานศิลปะที่เป็นเรื่องราวของสี
ทำงานร่วมกับแสงแสดงการประสานกัน การตัดกันของสีและแสง
ภายใต้โครงสร้างเรขาคณิตในการจัดการกับความระยิบระยับของสี
โดยสร้างให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นสภาพแวดล้อมที่เสมือนแสง
และสีที่สดจัดเหล่านี้โอบรอบผู้ชมให้เกิดความรู้สึกตื่นตา สนุกกับปฏิกิริยาที่ตอบโต้กันระหว่างสีแสงของแต่ละรูปทรงกับพื้นที่ว่างที่แสงกระจายออกทับซ้อนกันในหลายทิศทาง
พร้อมทั้งให้ผู้ชมได้จินตนาการตอบโต้ร่วมไปกับผลงานของข้าพเจ้า
โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานสร้างสรรค์
ดังนี้ การนำแนวคิดเข้าสู่รูปธรรมของงานศิลปะนั้น
ข้าพเจ้าจำเป็นต้องสร้างภาพร่างและแบบจำลองขึ้นก่อน
เพื่อเป็นแนวทางส่งให้กับกระบวนการสร้างสรรค์
ดังนั้นการหาข้อมูลจึงจัดเป็นความสำคัญเบื้องแรกของการสร้างสรรค์ ซึ่งข้าพเจ้าได้มุ่งสู่เรื่องของดนตรี
สี และแสงจากการแสดงดนตรีสด
สถานที่ในการนำเสนอผลงาน และเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ จากการหาข้อมูล ข้อมูลจำแนกออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ
คือ ดนตรี สี-แสง เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ และสถานที่นำเสนอผลงาน หนึ่งดนตรี องค์ประกอบของดนตรี
เพื่อนำมาซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงของทัศนธาตุทางศิลปะต่างๆ
สำหรับการนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ สองสีและแสงจากการแสดงดนตรีสด ข้าพเจ้าพบว่าในการแสดงดนตรีที่ดีควรจะต้องมีการใช้สีที่เหมาะสมเป็นสื่อทำการถ่ายทอดอารมณ์ของดนตรี
ความสว่างหรือแสงซึ่งทำหน้าที่นำสายตาของผู้ชมไปยังผู้บรรเลงหลักในแต่ละท่อนของดนตรี
ทิศทางของแสงทำให้เกิดมิติทางการมองเห็นซึ่งส่งผลต่อมิติอารมณ์ของผู้ชม
รวมทั้งจังหวะการกระพริบก็เป็นตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวที่สอดประสานไปกับจังหวะของดนตรีอย่างกลมกลืน
สามสถานที่นำเสนอผลงาน สถานที่ที่จะรองรับการติดตั้งผลงานควรเป็นพื้นที่ที่มืดสนิท
สามารถใช้พื้นที่ฝาผนังในการติดตั้งผลงานได้โดยรอบ ขนาดของห้องมีความเหมาะสม
สอดคล้องกับจำนวนย่อยของชิ้นงาน และองค์รวมของผลงาน และสี่เทคนิค
และวิธีการสร้างสรรค์ ข้าพเจ้ารวบรวมข้อมูลมาทำการวิเคราะห์
เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสร้างภาพร่างและแบบจำลอง
ในส่วนของข้อมูลที่ได้จากดนตรีนั้นข้าพเจ้าตัดสินใจเลือกใช้เฉพาะแนวดนตรีที่ไม่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจมาก
ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกในการเข้าถึง โดยการสร้างภาพร่าง-แบบจำลอง
เป็นไปตามนี้ เริ่มต้นจากการนำข้อมูลของขนาดสถานที่มาย่อส่วนลงในอัตราส่วน 1:20 ทำการร่างแบบของตัวผลงานชิ้นต่างๆลงบนพื้นและผนังแต่ละด้าน
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดที่กำหนดไว้
จากนั้นสร้างแบบจำลองสามมิติของสถานที่แสดงผลงานและตัวผลงานขึ้น
ทำการจัดวางตามภาพร่าง
ต่อจากนั้นจึงกำหนดสีหลักที่ใช้ในแต่ละด้านของรูปทรง
พร้อมทั้งคำนึงถึงการกระจายออกและทับซ้อนกันของแสง ระหว่างผลงานแต่ละชิ้นกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน
มีดังนี้ ใช้เทคนิคเลเซอร์ ปริ้นท์ ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้ตัวผลงานเกิดความสมบูรณ์สูงสุด
เหมาะสมที่สุดทั้งในแนวความคิด และในทางเทคนิค วิธีการของการจัดการกับวัสดุ
ข้าพเจ้าเลือกใช้เทคนิคการพิมพ์เลเซอร์ ปริ้นท์
พิมพ์ลงบนแผ่นสติ๊กเกอร์ที่มีความโปร่งแสง
งานพิมพ์ที่ได้จากเทคนิคการพิมพ์นี้มีความเรียบเนียน คมชัด เป็นไปตามที่ข้าพเจ้าต้องการ
ขั้นตอนในการสร้างรูปทรงทั้งหมดของผลงานสามารถลำดับได้ดังนี้คือ
พิมพ์ผลงานลงบนสติ๊กเกอร์การประกอบผลงาน การเก็บรายละเอียด การติดตั้งผลงาน และการแก้ปัญหาทางด้านสุนทรีย์ในการติดตั้ง
ณ สถานที่แสดงผลงาน
2.
บทวิเคราะห์
ในบทวิเคราะห์ผลงงานสร้างสรรค์นี้
นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อตัวข้าพเจ้าในการทบทวนความชัดเจนให้กับตัวผลงานทั้งในทางรูปแบบ
และแนวความคิด อันเป็นผลดีในการปรับปรุงหรือพัฒนาการสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคตแล้ว
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาศิลปะด้วย
ข้าพเจ้าได้ทำการวิเคราะห์ผลงานสร้างสรรค์ในประเด็นหลัก 3 ประเด็น ดังนี้
หนึ่งพัฒนาการของผลงานสร้างสรรค์ สองการแทนค่าความหมาย
และสามพัฒนาการต่อยอดจากผลงานศิลปะ 3 ศิลปิน
พัฒนาการของผลงานสร้างสรรค์
จากการสร้างสรรค์ผลงานในอดีตที่ผ่านมาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้พัฒนาทั้งแนวความคิดและทำการทดลอง ปรับปรุง การใช้ทัศนธาตุ
รวมไปถึงเทคนิควิธีการ โดยการหาความเป็นไปได้ในการกำหนดให้สีทำงานร่วมกับแสง
ข้าพเจ้าได้พบปัญหาจากผลงานทั้งในเรื่องการใช้ลักษณะผิว และการใช้เสียงดนตรีประกอบผลงาน
ซึ่งอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้
ปัญหาจากการใช้ลักษณะผิว
ลักษณะผิวที่ข้าพเจ้าสร้างขึ้นสำหรับแสดงอารมณ์
ความรู้สึกของจังหวะ และอารมณ์ดนตรีนั้น มีลักษณะเป็นรูปร่างอิสระ
เพื่อให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหวไปกับดนตรี
แต่เมื่อนำไปประกอบรวมกันทั้งหมดแล้วพบว่าไม่สามารถสนับสนุนแนวคิดของข้าพเจ้าได้
จากปัญหานี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าลักษณะผิวแบบอิสระที่ข้าพเจ้าสร้างสรรค์นี้ไม่สามารถถ่ายทอดได้ตรงตามแนวคิด
ปัญหาจากการใช้เสียงดนตรี
การนำดนตรีเข้าไปประกอบกับผลงานนามธรรมของข้าพเจ้าเปรียบได้กับการบรรจุเรื่องราวและเนื้อหาให้กับผลงานมากเกินไป
จนทำให้เสน่ห์ของจินตนาการอันเกิดจากการชมผลงานศิลปะแบบนามธรรมนั้นหายไป
ผลงานในชุดก่อนได้ให้ประสบการณ์ที่ดียิ่งต่อการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้
การปรับเปลี่ยนลักษณะผิวจากรูปร่างเรขาคณิตได้ร่วมเสริมความระยิบระยับของสีและแสงให้เกิดความแพรวพราวยิ่งขึ้นและช่วยให้การบรรเลงท่วงทำนองของข้าพเจ้าโด้ตอบโต้กับจินตนาการของผู้ชมได้เต็มที่เช่นกัน
การแทนค่าความหมาย
ข้าพเจ้าได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบสีและเสียงจากเครื่องดนตรี
สีกับจังหวะทาง ทัศนธาตุ และจังหวะทางดนตรี เพื่อเป็นข้อมูลต่อการสังเคราะห์สู่รูปธรรมของผลงาน
สีน้ำเงินเป็นสีที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นและเคร่งขึม
เปรียบเสียงกลองที่ทำหน้าที่ควบคุมโครงสร้างของจังหวะให้แก่ดนตรีชิ้นอื่น
สีม่วงให้ความรู้สึกมีเสน่ห์ เร้นลับ ซ่อนเร้น และมีอำนาจ เปรียบได้กับเสียงเบสที่มีหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างกลองกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น
สีเขียวสร้างความรู้สึกรื่นรมย์ เย็น
และผ่อนคลาย เปรียบท่วงทำนองแห่งเสียงเปียโน สีส้มให้ความรู้สึกสดใส มีชีวิตชีวา
และคึกคัก ความสดจัดของสีส้มสามารถโน้มนำสายตาของผู้ชมในการชมงานศิลปะเปรียบดั่งเสียงร้อง
สีเหลืองสร้างความรู้สึกร่าเริง เบิกบาน และสนุกสนานเปรียบดังเครื่องเคาะจังหวะที่เป็นเครื่องดนตรีที่กำหนดสีสัน
ความสนุก ข้าพเจ้าได้จัดระเบียบสีที่ได้จากการเปรียบเทียบโดยคำนึงควบคู่ไปกับจังหวะของแนวดนตรีต่างๆ
เช่น แนวเพลงลาติน(Latin) และเรกเก้(Reggae)
ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นมุ่งเน้นการแสดงตัวของเครื่องเคาะจังหวะ(Percussions)
ผลงานสร้างสรรค์ที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นผลงานที่ใช้โทนสีส้มเหลืองเป็นหลักในการแสดงออก
แนวเพลงเอสิด แจ๊ส(Acid Jazz)
ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจังหวะมากเป็นพิเศษ สีน้ำเงินที่หมายถึงกลอง (Drums) และสีม่วงซึ่งเปรียบดังเสียงเบส (Bass)จึงถูกเลือกใช้เป็นแนวโครงสีของชิ้นงานนั้น
แนวเพลงลูกทุ่งและแนวเพลงลูกกรุง ให้ความสำคัญกับภาษา การร้อง และจังหวะ
สีที่ถูกเลือกนำมาสร้างสรรค์ในปริมาณมากจึงเป็นโครงสีส้ม สีแดง เป็นต้น
พัฒนาการต่อยอดจากผลงานศิลปะของ
3 ศิลปิน
ผลงานศิลปะของศิลปินที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ของข้าพเจ้าเป็นผลงานศิลปะของ
3 ศิลปินซึ่งได้แก่
-การใช้เส้นดำในการแบ่งพื้นที่ว่างให้เกิดรูปร่างสี่เหลี่ยมเรขาคณิตของเพียท
มองเดรียน(Piet
Mondrian) ซึ่งเปรียบเสมือนการจัดระเบยบรูปร่างเรขาคณิตบนผืนผ้าใบ
เป็นฐานต่อยอดให้ข้าพเจ้าในการจัดจังหวะรูปทรงเรขาคณิตของข้าพเจ้าให้มีความาสูงต่ำระดับต่างๆ
-การสร้างลักษณะการลวงตาด้วยรูปร่างร่างเรขาคณิต
2 มิติขิงวิคเตอร์ วาซาเรลี่
(Victor
Vasarely)เป็นฐานให้ข้าพเจ้าในการต่อยอดสู่การสร้างความระยิบระยับบนผิวรูปทรงเรขาคณิต
ซึ่งเป็นดังโน้ตดนตรีทั้งหมดของข้าพเจ้า
-การใช้ทัศนธาตุที่หลากหลาย
จัดวางอย่างซับซ้อน และสอดรับกันในการแสดงเนื้อหาเกี่ยวข้องกับดนตรีของวาสซิลี่
คานดินสกี้(Wassily
Kandinsky)เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งให้ข้าพเจ้าทำการประพันธ์ดนตรีขึ้นจากแนวเพลงที่หลากหลาย
เพื่อให้แนวเพลงเหล่านี้ทั้งสอดประสาน และขัดกันบางขณะได้แปลความ แสดงตัวออกมาในรูปลักษณ์ของสีที่แสดงความสนุกสนาน
และความสดใส
การที่ข้าพเจ้านำแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากผลงานศิลปะของทั้ง
3 ศิลปินมาเป็นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานของข้าพเจ้านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการนำผลงานของศิลปินในอดีตมาปรับใช้ต่อการสร้างสรรค์ผลงานชุด”ท่วงทำนองแห่งสีสัน” สามารถจัดอยู่ในประเภทศิลปะแอ็พโพรพริเอชั่น(Appropriation Art) ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของผลงานศิลปะที่ผลิแตกอย่างรวดเร็วในช่วงยุคสมัย โพสต์โมเดิร์น(Postmodern) ซึ่งศิลปินนิยมนำภาพต่างๆจากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาปรับปรุงต่อเติมใหม่
เชื่อมรวมกับจินตนาการของตนเองและสร้างสรรค์ออกมา
หากแต่การรับเอาอิทธิพลเหล่านี้มาสร้างสรรค์ผลงานของข้าพเจ้านั้นได้ผ่านกระบวนการในการแปรค่าแรงบันดาลใจสู่การกำหนดแนวคิด
การแทนค่าความหมาย การจัดองค์ประกอบ เทคนิค วิธีการ และวัสดุในกระบวนการสร้างผลงาน
รวมไปถึงรูปแบบในการนำเสนอผลงานที่แตกต่างกันไป อันนำมาซึ่งบุคลิกใหม่เฉพาะตัวต่อผลงานสร้างสรรค์ของข้าพเจ้า
3.
สรุป
วิทยานิพนธ์ชุดนี้เป็นการนำเสนอผลงานศิลปกรรมที่ต้องการให้รู้สึกถึง
ความรู้สึกสนุกสนาน ความระยิบระยับของสี และแสง
รวมทั้งจังหวะต่างๆของรูปทรงที่ให้สี และแสงที่ทำหน้าที่ตอบโต้กัน
การก่อเกิดทั้งหมดนี้มีที่มาจากแรงบันดาลใบหลายประการซึ่งไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังเกี่ยวกับดนตรี
ทั้งผู้ประพันธ์และนักดนตรี การเป็นนักศึกษาสายศิลปกรรม และการรับอิทธิพลจากผลงานศิลปกรรมระดับมาสเตอร์พีซก็ตาม
แรงบันดาลใจทั้งหมดนี้ได้ก่อแนวความคิดสู่รูปธรรมเป็นผลงานสร้างสรรค์ในชุด”ท่วงทำนองแห่งสีสัน”
ซึ่งได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาการใช้สี
และแสงการแปรค่าเสียงดนตรีออกเป็นสี การจัดการกับวัสดุ ตลอดจนเทคนิค
และวิธีกาที่สามารถตอบสนองแนวความคิด รวมทั้งให้ผู้ชมได้จินตนาการตอบโต้ร่วมกับสี
และแสงนำพาอารมณ์ความความรู้สึกที่สัมผัสรับรู้จากตาสู่โสตสัมผัสได้อย่างกลมกลืน
การสร้างสรรค์ผลงาน”ท่วงทำนองแห่งสีสัน” ทำให้ข้าพเจ้าได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิธีการจัดการวัสดุ เพิ่มทักษะจากการสร้างรูปทรงให้เป็นหน่วยย่อยต่างๆหลายชิ้นในชุดผลงาน
ในส่วนของการติดตั้งซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายนอกจากได้ทำให้ข้าพเจ้าเรียนรู้ถึงปัญหา
และการแก้ปัญหาแล้ว ในส่วนของภาพรวมได้จุดประกายความคิดต่อข้าพเจ้าในทางกลับกันคือ
ผลงานศิลปกรรมชุดนี้สามารถเป็นกลายเป็นตัวจุดแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าในการนำไปปรับสร้างบรรยากาศร่วมกับการแสดงดนตรีสดขงข้าพเจ้า
พร้อมกันนั้นก็สามารถทำให้ข้าพเจ้าประพันธ์ดนตรีขึ้นต่อประสาทตาที่รับรู้ต่อผลงานชุดนี้
เหนืออื่นใดคือทำให้ข้าพเจ้าเห็นแนวทางที่จะสร้างสรรค์ผลงานในอนาคตให้รูปแบบทางทัศนศิลป์ทำงานร่วมกับเสียงดนตรีได้อย่างเป็นเอกภาพ
ดังนั้นวิทยานิพนธ์ชุด”ท่วงทำนองแห่งสีสัน”จึงเปรียบได้กับบทสรุปการทดลองค้นหาสุนทรียภาพจากสีและแสงอีกแนวทางหนึ่ง
ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ
และผู้ที่ต้องการนำไปเป็นกรณีศึกษา หรืออื่นใดที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางสร้างสรรค์ศิลปกรรมต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา, ผศ. โลกศิลปะ :
ศตวรรษที่20. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2545.
ณรุทธ์ สุทธจิต. สังคีตนิยม : ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงแก้ไข. กรุงเทพมหานคร
: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2540.
บรรณรักษ์ นาคบรรลังค์ (ตรวจประเมิน
และวิจารณ์ผลงานศิลปะในกระบวนการวิชา Printmaking Project สาขาวิชาภาพพิมพ์
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), 2549.
รสลิน กาสต์, รศ. แอ็พโพรพริเอชั่นอาร์ต. FINE
ART. 22(3). กรุงเทพมหานคร : บริษัท
เดอะ เกรทไฟน์ อาร์ท จำกัด, 2549.
สาธิตไกวัลวรรธนะ. Light On Stage – รอบรู้เรื่องหลอด.
The Absolute Sound & Stage. 53, มกราคม. กรุงเทพมหานคร : บริษัท
ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน), 2550.
Deicher, Susanne. MONDRIAN. Koln : Taschen, 2004.
Duchting, Hajo. KANDINSKY. Koln : Taschen, 2000.
Holzhey, Magdalena. VASARELY. Koln : Taschen, 2005.
ความรู้สึกเกี่ยวกับสีในเชิงจิตวิทยา. (no date)[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.pcr.ac.th/newart/webart/composition.html
(24 มกราคม 2550).
Da Vinci, Lonado. Portrait of Mona Lisa. (no
date) [online]. Available http://www.ibiibo.org/wm/paint/auth/vinci/joconde/ (16 November 2550).
Duchamp, Marcel. L.L.O.O.Q.. (no date)[online]. Available http://www.mus.ulaval.ca/lacasse/cours/Seminaires/Oeuvre/intertextualite.
(16
November2550).
Duffy, Emily. Mondrian Mobile. (no
date) [online]. Available http://www.artcaragency.comshowcase.php?cat=predominantly
painted (16 November
2550).
Mondrian, Piet. Composition in Red, Yellow and Blue. (no date) [online]. Available http://www.theoriginalsoundtrack.com/blod/archives/00000595.html
(16 November 2550).
CREDIT by :AOOM
เริดค่ะ แต่เค้าทำไม่ได้อ่ะ เขียนแบบความเรียงไม่ได้อ่ะ
ReplyDelete